โรคอ้วนและเบาหวาน สู้ได้ด้วย การบริโภค “บุก”
โรคอ้วนและเบาหวาน สู้ได้ด้วย การบริโภค “บุก” ปัจจุบันการรักษาโรคอ้วนและเบาหวานนั้น นอกจากการใช้ยาแล้วแพทย์ มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร โดยลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล แล้วทำอย่างไรล่ะ?
ถึงจะงดหรือลดได้ เพราะถึงอย่างไร อาหารหลักของคนไทยก็ยังเป็นข้าวและผลิตภัณฑ์ที่มาจากข้าว เช่น ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมจีน ซึ่งล้วนแต่ประกอบด้วยแป้งเป็นหลักทั้งสิ้น ทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ เปลี่ยนมารับประทานอาหารประเภทอื่นที่ไม่ใช่แป้ง แต่มีเนื้อสัมผัส และรสชาติ คล้ายอาหารที่มาจากแป้งแต่ไม่ให้พลังงาน ที่สำคัญทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ “บุก” นั่นเอง เรามาทำความรู้จักกับมันหน่อยดีกว่า
บุก หรือ Konjac มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amorphophallus konjac เป็นพืชหัว เจริญเติบโตได้ทั่วไปในประเทศแถบร้อนชื้น ได้แก่ ประเทศไทย พม่า เขมร ลาว
เวียตนาม อินโดนีเซีย คนไทยเรารู้จักและบริโภคบุกกันมาช้านานแล้ว โดยมีการนำส่วนต่างๆ ของบุกมาประกอบอาหาร เช่น ยอดอ่อน ลำต้น และหัวใต้ดิน (พงศ์เทพ, 2555)
สรรพคุณ: หัว มีรสเบื่อเมา คัน กัดเสมหะเถาดาน แก้เลือดจับเป็นก้อน หุงกับน้ำมัน ใส่บาดแผล กัดฝ้าและกัดหนองดี เป็นอาหารดูดสารพิษ ขจัดไขมันในเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยระหว่างพักฟื้น และปรุงอาหารรักษาสุขภาพ นำหัวมาต้มกับน้ำ แก้โรคตับ โรคท้องมาน ยากัดเสมหะ แก้ไอ
ญี่ปุ่น: ใช้ทำอาหารลดความอ้วน
ส่วนประกอบหลักของหัวบุก เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง แต่เป็นกลูโคแมนแนน (Glucomanan) ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลกลูโคสและแมนโนสเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเบต้า 1-4 และมีหมู่อะเซติล (acetyl group) กระจายอยู่ในโครงสร้างประมาณ 1 ใน 5 ของน้ำตาลทั้งหมด (Takigami, 2000) ซึ่งไม่สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ที่อยู่ในระบบย่อยอาหารของคน พูดให้ง่ายคือร่างกายเราไม่สามารถย่อยกลูโคแมนแนนให้เป็นน้ำตาลได้ รวมทั้งไม่ได้รับพลังงานจากการเผาผลาญน้ำตาลนั้นอีกด้วย
จึงเรียกได้ว่ากลูโคแมนแนนเป็นใยอาหาร (fiber) รูปแบบหนึ่งนั่นเอง ซึ่งการที่มีใยอาหารเข้าไปเติมเต็มในกระเพาะอาหารนี้ จะช่วยกระตุ้นการดูดซึมของกลูโคสสู่ร่างกาย ทำให้ปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดลดต่ำลง (Fang & Wu, 2004)
ใยอาหารจากบุกนี้ยังรวมตัวกับกรดน้ำดี (bile acid) ซึ่งสร้างจากเซลล์ตับ ก่อนที่จะถูกขับออกไปเป็นกากอาหาร จึงกระตุ้นให้ร่างกายดึงเอาโคเลสเตอรอล (cholesterol) มาเปลี่ยนเป็นกรดน้ำดีทดแทน ผลที่ได้คือโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในร่างกายลดลง (Wu & Peng, 1997)
อย่างไรก็ตามแม้จะพบว่าบุกมีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่ที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด และโคเลสเตอรอลในร่างกาย แต่จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของบุก พบว่าไม่มีแร่ธาตุ วิตามินหรือสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ในการสร้าง บำรุง หรือซ่อมแซมเซลล์ร่างกายแต่อย่างใด พูดง่ายๆ กินเพื่อให้รู้สึกอิ่มและขับออกมาเป็นกากอาหาร
ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานบุกเป็นอาหารหลักแต่เพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยโรคอ้วนหรือเบาหวานยังคงต้องการแป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่จากอาหารอื่นๆ แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณเหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี