ไลโคปีน ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค
ไลโคปีน (lycopene) ชื่อนี้เริ่มติดหูคนไทยมาได้หลายปี เพราะมีการระบุว่า เป็นสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมหาศาล ช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคร้ายได้อย่างเด็ดดวง ส่วนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้างนั้น ลองต้องไปทำความรู้จักกับสารตัวนี้กันก่อน
ไลโคปีน เป็นสารชนิดหนึ่งในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่พบมากในมะเขือเทศ แตงโม และพิงค์เกรปฟรุต หรือผลไม้ที่ให้สารสีแดง สีส้ม และสีเหลือง โดยมีประสิทธิภาพจำเป็นแก่ร่างกายตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ทำหน้าที่ปกป้องการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ และป้องกันโรคร้ายต่างๆ สาร ไลโคปีน จะช่วยในเรื่องของการบำรุงผิวพรรณและชะลอความชรา และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านความเสื่อมของร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ขณะที่มีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนว่าไลโคปีนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร เพียงแค่กินมะเขือเทศ ก็ได้ทั้งไลโคปีนและของแถมอีกเป็นขบวน ซึ่งถ้าปล่อยให้ร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากจนเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การออกกำลังกายมากเกินไป จะเป็นสาเหตุให้เซลล์ภายในร่างกายถูกทำลาย หรือที่เรียกว่า “ร่างกายอยู่ในสภาพขึ้นสนิม” ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดเซลล์มะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไลโคปีน เป็นสารอาหารธรรมชาติที่ร่างกายไม่สามารถผลิตและเก็บสะสมได้เหมือนสารอาหารชนิดอื่น โดยจะถูกนำมาใช้ในส่วนต่างๆ และขับออกจากร่างกายตลอดเวลา ซึ่งถ้าปริมาณไลโคปีนในร่างกายลดลง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ และเกิดโรคร้ายในที่สุด จึงต้องรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณไลโคปีนให้เพียงต่อความต้องการในแต่ละช่วงวัยด้วย
ความมหัศจรรย์ 7 อย่างของ ไลโคปีน มะเขือเทศ
1. สกัดกั้นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งแบบอยู่หมัด จากการการศึกษาทางคลินิกในวารสารวิจัยมะเร็งปี 2542 พบว่า ผู้ชายร้อยละ 83 มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง เมื่อได้รับสาร “ไลโคปีน” ในเลือดสูงถึง 0.40 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือเทียบเท่าการรับประทานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเชือเทศ เช่น สปาเก็ตตีซอสมะเขือเทศ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ทำการสำรวจปริมาณการบริโภคมะเขือเทศในอตาลีตอนเหนือและตอนใต้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร พบว่า กลุ่มคนของอิตาลีตอนใต้ที่ใช้มะเขือเทศกับน้ำมันมะกอกเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอาหาร มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารต่ำกว่ากลุ่มคนของอิตาลีตอนเหนือ ส่วนใหญ่ซึ่งรับประทานแต่อาหารที่ทำจากเนย น้ำมันหมูกับเนื้อสัตว์เป็นหลัก
2. สลายไขมัน ให้เส้นเลือดคล่องตัว งานวิจัยขากสาขาวิชาสารอาหารและระบาดวิทยา ภาควิชาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ไลโคปีน มีประสิทธิภาพในการระงับอนุมูลอิสระที่จะทำลายผนังเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และนักวิจัยชาวฟินแลนด์ ได้รายงานผลการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านประสาทวิทยา แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างระดับไลโคปีนในเลือดนำไปสู่การป้องกันเส้นเลือดอุดตันในสมอง โดยหลังการติดตาม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายวัยกลางคน จำนวน 1,000 คน เป็นเวลา 12 ปี พบว่า ชายที่มีระดับไลโคปีนในเลือดสูง มีส่วนสำคัญในการช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดทุกประเภท และป้องกันการเกิดเส้นเลือดอุดตันและลิ่มอุดตันได้มากถึง 59%
3. ลดภาวะเครียดออกซิเดชัน ภัยร้ายลมหายใจแรกของทารก ออกซิเจนเป็นก๊าซธรรมชาติที่ในุษย์ต้องใช้หายใจตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่การได้รับมากเกินไป อาจส่งผลร้ายเช่นกัน โดยเฉพาะทารก หากรับปริมาณออกซิเจนมากเกินไป จนกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดอนุมูลอิสระในชั่ววินาทีแรกของลมหายใจหรือ ภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stres) เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก ในระยะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องเน้นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไลโคปีน เช่น มะเขือเทศ ซึ่งจะส่งไลโคปีนจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านสายสะดือ และในน้ำนม
4. ช่วยวัยรุ่น “ไดเอ็ท” ช่วงวัยรุ่นร่างกายจะมีการแบ่งเซลล์เพื่อการเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเซลล์ไขมันที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน หากร่างกายมี “ไลโคปีน” ในเลือดเป็นจำนวนมาก ก็เปรียบเสมือนการมีตัวช่วยจำนวนมหาศาลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน
5. บาลานซ์น้ำตาลในร่างกายของวัยทำงาน การบริโภคของคนไทยในปัจจุบันออกจะติดหวานกันอยู่ค่อนข้างมาก รวมไปถึงการบริโภคน้ำอัดลมที่เต็มไปด้วยน้ำตาล และนำไปสู่โรคเบาหวานในอนาคต ซึ่งประเทศไทยมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 6.9% ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การรับประทานมะเขือเทศที่มี “ไลโคปีน” มีประสิทธิภาพในการควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือป้องกันภาวะความไวต่ออินซูลิน นอกจากนี้ มะเขือเทศยังมี “กรดซิตริก” ที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของออกซิเจนที่เปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล
6. ล้างเส้นเลือดสะอาดหมดจน คอเลสเตอรอลมีประโยชน์ในการเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่ถ้ามีปริมาณมากจนเกินไป โดยเฉพาะชนิดเลว อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่ง “ไลโคปีน” ในมะเขือเทศมีประสิทธิภาพพิเศษที่ช่วยสกัดปฏิกิริยาออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลไม่ดีที่อยู่ในผนังหลอเลือด พร้อมช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดีในกระแสเลือด และป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว
7. ป้องกันโรคความจำเสื่อมก่อนวัยชรา เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นร่างกายก็ยิ่งสะสมสารอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ประสาทที่หน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้จดจำ ทำให้คนชราบางคนเกิดอาการหลงลืมหรือสับสนต่อเหตุการณ์ต่างๆ หากคนในวัยชรารับประทาน “ไลโคปีน” ก็จะช่วยยับยั้งการทำลายเซลล์ของสารอนุมูลอิสระและผลักออกจากร่างกายในเวลาต่อมา
ควรรับประทานมะเขือเทศสดหรือมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงอาหารแล้ว
ความเชื่อที่ว่าของสดดีกว่าของที่ปรุงแล้ว ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ในกรณีของมะเขือเทศเป็นหนึ่งในข้อยกเว้น มะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้การยึดจับของไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศอ่อนตัวลง ทำให้ไลโคปีนถูกร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่า นอกจากนี้ความร้อนและกระบวนการต่างๆในการผลิตผลิตภัณฑ์มะเขือเทศยังทำให้ไลโคปีนเปลี่ยนรูปแบบ (จากไลโคปีนชนิด “ออลทรานส์”(all-trans-isomers)เป็นชนิด “ซิส”(cis -isomers)) คือ เป็นชนิดที่ละลายได้ดีขึ้น
การเมินหน้าอาหารที่มีประโยชน์เช่นนี้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพของคนไทยย่ำแย่ลงทุกวัน โรคเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน หรือแม้แต่มะเร็ง ก็ทวีจำนวนผู้ป่วยขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บอกลาอาการ “ยี้” ผักและผลไม้เสียตั้งแต่วันนี้ แล้วมองให้ไกลถึงคุณประโยชน์ของมะเขือเทศ รวมถึงผักผลไม้ชนิดอื่น นอกจากสุขภาพร่างกายจะดีในระยะยาวแล้ว ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่าง “ไลโคปีน” ยังสามารถช่วยเพิ่มเกราะป้องกันโรคร้ายให้กับร่างกายได้อีกด้วย เหมือนสำนวนที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา”
ที่มา: ผู้จัดการ www.manager.co.th
ข้อมูลสุขภาพ: https://line.me/R/ti/p/%40amrherbs